ในเส้นทางนี้ นักท่องเที่ยวจะได้สังเกตสิ่งใหม่รอบตัว ซึมซับองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และผลงานสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ หยิบนั่น จับนี่ มาเป็นผลงานโบว์แดงชิ้นใหม่ และเรียนรู้การทำงานสร้างสรรค์จากชุมชน ผู้ดำรงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ยังมีลมหายใจ
เดินทางถึงเชียงใหม่ เริ่มต้นวันด้วยการเปิดรับกระตุ้นต่อมความคิดสร้างสรรค์ด้วยการไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม
สร้างสรรค์งานกระดาษสาที่บ้านต้นเปา เวิร์คช็อปเล็กๆนำโดยคุณลุงวิจิตรที่คร่ำหวอดในการทำกระดาษสามาหลายสิบปี มีเทคนิควิธีการหลากหลาย ที่หมู่บ้านแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตกระดาษสาที่สำคัญเพราะอยู่ใกล้กับบ่อสร้างซึ่งเป็นแหล่งทำร่มที่โด่งดัง นอกจากนี้ในอดีตกระดาษสานั้นมีความสำคัญในวัฒนธรรมล้านนา เพราะจะถูกใช้ในงานประกอบงานบุญประจำปี งานพิธีต่าง ๆ นำมาใช้ในครัวเรือน เช่น ยันต์, ไส้เทียน, ตุง, โคม, พัด
“เพราะมีนา จึงมีข้าว” เมนูอาหารของ Meena Rice-Based Cuisine เน้นส่วนประกอบจากข้าวเป็นหลัก นำมารังสรรค์เป็นอาหารจานสวย โดยเมนูจานเด่นพระเอกของที่นี่คือ เมนูข้าว5สี ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้องแดง ข้าวไรส์เบอร์รี่ ข้าวดอกอัญชัน และข้าวดอกคำฝอย รับประทานอาหารมื้อแรกของทริปท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นของร้าน
อิ่มแล้วก็ออกไปเดินเล่น ย่อยอาหาร เสพย์อาหารตากันบ้าง เพลิดเพลินกับการช้อปปิ้งงานคราฟท์ที่ตั้งเรียงรายสองข้างทาง
ไม่ไกลนักจากตัวเมืองเชียงใหม่ เราสามารถมาสัมผัสวิถีชาวยองที่บ้านป่าตาล ชุมชนเล็กๆที่อพยพมาจากสิบสองปันนาเมื่อ200ปีก่อน ที่ยังสามารถรักษาวัฒนธรรมประเพณีของตนเองไว้ได้ ที่นี่มีการรวมตัวกันเพื่อจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างเข้มแข็ง โดยเมื่อเราเดินทางมาถึง จะมีไกด์ท้องถิ่นอย่าง“แม่นิ้งหน่อง” และคนในชุมชนมาต้อนรับ ลำดับแรกสุด“พ่อครูวันชัย” จะพาเราเข้ามาไหว้พระในวัดป่าตาล วัดเก่าแก่มีอายุกว่า 200 ปี และยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน หลังจากนั้นจึงได้รับแจกร่มคนละคันเพื่อเริ่มเดินเที่ยวตามโปรแกรมการท่องเที่ยวในหมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม แต่ละคณะ ควรมีการประสานกับชุมชนล่วงหน้าเพื่อออกแบบกิจกรรมร่วมกัน เพราะกิจกรรมที่นี่จะมีฐานต่างๆให้เลือกมากมาย เนื่องจากแต่ละหลังคาเรือนจะยังมีคนที่ยังสืบสานการทำงานหัตถกรรมภูมิปัญญาต่าง ๆ อาทิเช่น การทำกระดาษสา จักสาน สานข้าวกล่องจากใบตาล สานตะกร้า สานไม้กวาด ทำโคม ทำหมวกกะโล่โบราณ การทำน้ำหนัง การทอผ้าซิ่นยอง การตัดเย็บเสื้อผ้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้าน การปลูกผัก ทำสวนเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น นอกจากสิ่งที่ชุมชนทำอยู่เดิมจะถูกต่อยอดมาเป็นกิจกรรมแล้ว ยังมีกิจกรรมใหม่ๆที่ประยุกต์จากทักษะเดิม เช่น การเพ้นท์ย่าม หรือการทำสปาเท้าสมุนไพร เป็นต้น
เย็น
แปลงร่างเป็นชาวยอง โดยเปลี่ยนเป็นชุดท้องถิ่นให้เข้ากับบรรยากาศดินเนอร์ริมเถียงนา ความพิเศษคือจะมีการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านมาทำพิธีผูกข้อมือเพื่อความเป็นสิริมงคลกับนักท่องเที่ยว ก่อนรับประทานอาหารเย็นร่วมกันในสไตล์กาดมั่วใต้แสงเทียนที่รวบรวมอาหารพื้นบ้านหลากหลายรสเด็ดขนาดพอดีๆคำฝีมือแม่ ๆ ที่ตั้งใจทำมาให้พวกเราได้ลิ้มลอง
เดินทางไปที่หมู่บ้านออนใต้ อีกหมู่บ้านสุดสร้างสรรค์แห่งสันกำแพง โดยหมู่บ้านนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก่อนเริ่มกิจกรรมและภารกิจของวัน มาทำความรู้จักกับชุมชนกันก่อน โดย “น้องน้ำเขียว” หรือรถที่ดัดแปลงมาใช้รับส่งนักท่องเที่ยวและไกด์ท้องถิ่นจะพาเราไปสัมผัสวิถีชีวิตแบบ “บ้านจุ้ม เมืองเย็น” (บ้านที่อุดมสมบูรณ์ เมืองที่สงบร่มเย็น) โดยเริ่มจากบ่อน้ำศักดิสิทธิ์ของหมู่บ้าน และไปไหว้พระที่วัดเชียงแสน จุดเริ่มต้นของอำเภอสันกำแพง โดยภายในวัดจะมีกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาโบราณอยู่ในนี้ด้วย
รับโจทย์ภารกิจของวันที่ทีมต้องร่วมกันทำให้สำเร็จ นำวัตถุดิบพื้นบ้านที่คุ้นเคยกันดีมาสร้างสรรค์ในการทำอาหารในรูปแบบใหม่ ฉีกกฎเดิมๆ โดยทีมจะต้อง สำรวจและเก็บวัตถุดิบเองถึงแหล่งผลิต เช่น ผลมัลเบอรรี่ ปลาดุก ไข่ไก่อารมณ์ดี ผักเชียงดา ลูกฟักข้าว เป็นต้น
พักรับประทานอาหารเที่ยงที่ออนใต้ฟาร์ม อาหารท้องถิ่นรสชาติดีปลอดสารพิษ โดย “พี่โย” เจ้าของฟาร์มได้เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของการทำออนใต้ฟาร์ม ว่าเกิดจากสาเหตุที่ชาวบ้านในชุมชนล้มป่วยด้วยสารเคมีเกษตรถึง 90% พี่โยเลยริเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ในหมู่บ้าน นำมาทำอาหารและยังชักชวนคนในชุมชนมาร่วมกันด้วย โดยนอกจากที่นี่จะเป็นร้านอาหารแล้ว ยังมีส่วนของครัวที่เปิดให้ใช้ได้ พื้นที่และอุปกรณ์สำหรับจัดงานเลี้ยง รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการประสานงานการท่องเที่ยวจุดต่างๆในหมู่บ้านด้วย
เยี่ยมชมกลุ่มหัตถกรรมท้องถิ่น เช่นกลุ่มทอผ้า โดยสามารถหาของมาตกแต่งโต๊ะอาหารสำหรับมื้อค่ำนี้ หลังจากนั้นทีมก็เริ่มทำอาหารร่วมกันตามแผนที่ได้วางไว้ในตอนต้น
จัดโต๊ะอาหาร และนำเสนอผลงานเมนูที่ทีมร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นให้กับคนในชุมชนได้ลิ้มลอง แล้วเพลิดเพลินกับการรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน โดยมีเสียงดนตรีจากวงดนตรีท้องถิ่นและการแสดงฟ้อนรำโดยเด็กๆ ในชุมชนเพิ่มอรรถรสให้กับมื้อพิเศษนี้
เข้าที่พักที่โฮมสเตย์ของชุมชน หรือโรงแรมในบริเวณใกล้เคียง เช่น บ้านปง ลอดจ์
ตื่นเช้าแล้วออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด ปั่นจักรยานรอบอ่างเก็บน้ำปงห้วยลานและซาบซึ้งไปกับเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริที่พลิกฟื้นพื้นที่ให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างพอเพียงจากไกด์ท้องถิ่น ก่อนปั่นไปรับประทานอาหารเช้าที่หมู่บ้านปงห้วยลาน
เก็บกระเป๋า เพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับเข้าเมือง โดยเราจะเดินทางไปที่ Barefoot Cafe ร้านอาหารในเมืองที่ตั้งใจนำอาหารมาใช้เป็นสื่อกลางในการบอกเล่าเรื่องราวหรือปัญหาต่างๆในสังคม ที่นี่จะใช้วัตถุดิบจากในเชียงใหม่ทั้งหมดที่คัดสรรแล้วว่ามีคุณภาพดี โดยเน้นทำงานร่วมกับชุมชนนอกจากเป็นร้านอาหารแล้ว ยังเปิดสอนการทำอาหาร เช่น การทำพาสต้าเส้นสด ซึ่งมีการนำวัตถุดิบท้องถิ่นเข้าไปผสมผสานอย่างน่าสนใจ
ก่อนจะบอกลาเมืองเชียงใหม่ พลาดไม่ได้กับการได้จิบกาแฟคุณภาพเยี่ยม ลองไปเปิดประสาทสัมผัสกับ Sensory Workshop ที่Akha Ama Living factory และเรียนรู้วิธีคิดในการผลิตกาแฟจากชุมชนเล็กๆให้ได้คุณภาพในระดับโลกและเป็นเครื่องมือสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรได้จริง